รายละเอียดข่าว |
ทะเบียนแหล่งเรียนรู้ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกไทย
ความหมาย / ความเป็นมา / ลักษณะทั่วไปของแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ วิทยากร ภูมิปัญญาชาวบ้านและประสบการณ์อื่น ๆ ที่สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
ภูมิปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรมและความสนใจในการแก้ปัญหาของมนุษย์
ความหมายของภูมิปัญญาไทย
จากการศึกษาความหมายที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมคำว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ได้ให้ความหมายพอสรุปได้ ดังนี้
ภูมิปัญญาพื้นบ้านหรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน (Popular Wisdom) หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา อันเป็นความสามารถและศักยภาพในเชิงแก้ปัญหา การปรับตัวเรียนรู้ และสืบทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อการดำรงอยู่รอดของเผ่าพันธุ์จึงตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของธรรมชาติ เผ่าพันธุ์ หรือเป็นวิธีของชาวบ้าน (ยิ่งยง เทาประเสริฐ)
ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง กระบวนทัศน์ของบุคคลที่มีต่อตนเอง ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จะมีรากฐานคำสอนทางศาสนา คติ จารีต ประเพณี ที่ได้รับการถ่ายทอดสั่งสอนและปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ปรับปรุงเข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละสมัย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขในส่วนที่เป็นชุมชน และปัจเจกบุคคล ซึ่งกระบวนทัศน์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จำแนกได้ 3 ลักษณะ คือ
-
ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม
-
ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสังคมหรือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
-
ภูมิปัญญาเกี่ยวกับระบบการผลิตหรือประกอบอาชีพที่มีลักษณะมุ่งเน้นระบบการผลิตเพื่อตนเอง
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ของการดำรงชีวิตของคนไทยที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับแนวความคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของตนเองจนเกิดการหลอมตัวเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่เป็นลักษณะของตนเอง ที่สามารถพัฒนาความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับกาลสมัย ในการแก้ปัญหาของการดำรงชีวิต
ลักษณะแหล่งการเรียนรู้ จัดเป็น 3 ประเภท คือ
-
แหล่งเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษชาติ ภูเขา แม่น้ำ ทะเล น้ำพุร้อน ปรากฏการทางธรรมชาติ เช่น ฝนตก แดดออก น้ำท่วม ความแห้งแล้ง
-
แหล่งเรียนรู้ที่จัดขึ้น หรือ สร้างขึ้น ซึ่งมีในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ที่สะดวกและรวดเร็ว
-
แหล่งเรียนรู้ที่เป็นทรัพยากรบุคคล ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง พ่อแม่ พระภิกษุสงฆ์ตลอดจนผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพแขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งสถานที่ประกอบการ ร้านค้า หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่น
ความเป็นมาและความสำคัญของแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่แพร่หลายทั่วถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ไร้อาณาเขตขวางกั้น สภาพดังกล่าวมีส่วนกระทบถึงวิถีชีวิตของผู้คนพลเมืองโดยทั่วไป เพราะเป็นสภาพที่เอื้ออำนวยโดยการรับและถ่ายโยงเอาศาสตร์หรือภูมิปัญญาตะวันตกเข้ามาในการพัฒนาประเทศและพัฒนาผลผลิต ตลอดจนการดำเนินชีวิต อย่างมิได้มีการปรับปนกับภูมิปัญญาไทยมี่มีความเหมาสมกับสภาพท้องถิ่นที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ชุมชนชนบทประสบปัญหาดังที่กล่าวว่าชุมชนล่มสลาย อันมีผลรวมไปถึงความทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง การพยายามใช้กลไกทางการศึกษาจากเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่น เป็นช่องทางในการประยุกต์เอาภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีจุดเด่น ที่สามารถพิสูจน์ตัวเองในการยืนหยัดอยู่รอดได้ ท่ามกลางกระแส การล่มสลายของชุมชนและการทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อมดังกล่าว มาสู่หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ในแนวทางของการคิดปฏิบัติจริง จากการประยุกต์ปรับปนภูมิปัญญาชาวบ้านหรือภูมิปัญญาไทยกับภูมิปัญญาสากล เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบคุณค่าภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชน และสามารถประยุกต์ใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นำมาซึ่งดุลยภาพ ที่สงบ สันติสุขของบุคคล ชุมชนและชาติ
ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้
-
เป็นแหล่งเสริมสร้างจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
-
เป็นแหล่งศึกษาตามอัธยาศัย
-
เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
-
เป็นแหล่งสร้างความรู้ ความคิด วิชาการและประสบการณ์
-
เป็นแหล่งปลูกฝังค่านิยมรักการอ่านและแหล่งศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
-
เป็นแหล่งสร้างความคิดเกิดอาชีพใหม่สู่ความเป็นสากล
-
เป็นแหล่งเสริมประสบการณ์ตรง
-
เป็นแหล่งส่งเสริมมิตรภาพความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนหรือผู้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
การจัดกระบวนการเรียนรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้
การเรียนการสอนเป็นกระบวนการสื่อสารความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ ความคิดเห็น ตลอดจนเจตคติซึ่งอาจทำได้หลายวิธี และอาจใช้เครื่องมือประกอบการสอนต่าง ๆ อีกมากมาย โดยมีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้ คุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมที่พึงประสงค์และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม ได้โดยปกติสุข จึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพ ของผู้เรียนอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน แสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง การนำแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนวิทยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการจัดการะบวนการเรียนการสอน จึงเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยให้กระบวนการเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายได้ตามที่ต้องการ การนำภูมิปัญญาชาวบ้าน แหล่งเรียนรู้มาใช้ในหลักสูตรการเรียน เป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ เป็นชุดความรู้ในชุมชนที่มีการใช้เพื่อการดำเนินวิถีชีวิตที่ได้ผลมาในอดีต สามารถดำรงความสันติสุขแก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน ตลอดจนความมีดุลยภาพอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างผสมกลมกลืน เป็นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่ได้เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นผู้เชื่อมโยงชุดความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับสถานศึกษาเข้าสู่หลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอนของสถานศึกษาในแต่ละท้องถิ่น
แนวทางในการนำแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ในการเรียนการสอน
แนวทางการสร้างและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและแหล่งเรียนรู้
-
กำหนดจุดประสงค์จากผลการเรียนที่คาดหวังให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใดบ้างจากบทเรียนนั้น เพื่อจะได้สร้างสื่อ หรือเลือกแหล่งเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับจุดมุ่งประสงค์และกิจกรรมการเรียนการสอน
-
ศึกษาผู้เรียน โดยพิจารณาถึงวัย ระดับชั้น ความรู้ ประสบการณ์ และความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกใช้แหล่งเรียนรู้
-
ศึกษาธรรมชาติของเนื้อหาสาระ ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แต่ละเรื่อง อาจมีลักษณะเฉพาะบางเรื่องด้วยการปฏิบัติจริง หรือเรียนรู้จริง ดูจากสาธิตจาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น และบางเรื่องต้องอาศัยจากการสืบค้นข้อมูล การฟัง การดู และการอ่าน
-
พิจารณาประโยชน์และความคุ้มค่าของแหล่งเรียนรู้ว่าสามารถเร้าความสนใจ สื่อความหมายและประสบการณ์การเรียนการสอนแก่ผู้เรียน การจัดประสบการณ์เรียนรู้ แก่ผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง
-
หาประสิทธิภาพของสื่อการเรียนรู้ โดยการปรับปรุงสื่อที่จัดไว้ เพ่อเป็นการปรับคุณภาพของสื่อว่าเหมาะสมในการนำไปใช้
วิธีการใช้แหล่งเรียนรู้
วิธีการใช้แหล่งเรียนรู้ คือ การนำผู้เรียนไปสู่แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งในบริเวณโรงเรียนและนอกบริเวณโรงเรียน เพื่อให้เกิดความรู้และประสบการณ์จริง และสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดหลักดังนี้
-
การใช้แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ต้องเริ่มจากแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ในบ้าน ในห้องเรียน นอกบริเวณโรงเรียน เช่น ไร่ นา แปลงเกษตรสาธิต ไร่นาสวนผสม โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถานที่ราชการ สถานที่ประกอบการ เป็นต้น
-
การใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อฝึกปฏิบัติ ทดลอง ศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง เช่น การปฏิบัติการ เกี่ยวข้าว การทำนา การทำไร่ งานเชื่อมโลหะ งานปูน งานไม้ และการฝึกงานในสถานที่ราชการ สถานประกอบการ เป็นต้น
การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนรู้
การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสู่การเรียนการสอน เป็นการนำคตินิยม ความเชื่อหรือหลักการพื้นฐานที่เกิดจากการสั่งสมหรือสืบทอดกันมา หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและจริยธรรมที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงามและความเป็นระเบียบแบบแผนที่เคยยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระมาให้รักเรียนได้เรียนรู้ตามขั้นตอนกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้
ลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ระบบโรงเรียน มี 3 ลักษณะ คือ
-
คน
-
แนวคิดชาวบ้าน
-
ผลงานชาวบ้าน
การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอน สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ
-
การเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน
-
การนำนักเรียนไปยังแหล่งการเรียนรู้หรือสถานประกอบการของภูมิปัญญาท้องถิ่น
การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน
การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน โรงเรียน ครูผู้สอนหรือผู้ที่รับผิดชอบจะต้องศึกษาและจัดทำรายละเอียด ข้อมูลในการจัดทำ โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ คือ
-
ศึกษาหลักสูตรแม่บทหรือหลักสูตรแกนกลาง
-
จัดทำข้อมูลสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่น
การนำแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
มีแนวทางดังนี้
-
ศึกษาหลักสูตรและสาระการเรียนรู้
-
จัดทำข้อมูลสารสนเทศแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
-
จัดทำแผนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์
-
ขอความร่วมมือกับชุมชนและตัววิทยากรท้องถิ่น
-
เชิญวิทยากรท้องถิ่นมาถ่ายทอดความรู้ หรือนำนักเรียนไปยังแหล่งเรียนรู้
-
ทำการวัด ประเมินผล
-
รายงานผล สรุปผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ
ข้อดีในการนำแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน
-
ผู้เรียนได้เรียนรู้จากความจริง ทำให้เกิดประสบการณ์ตรง
-
ผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน
-
ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อชุมชน และกระบวนการเรียนรู้
-
ผู้เรียนเห็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
-
ผู้เรียนเกิดความรักท้องถิ่นและเกิดความรู้ในการอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าในท้องถิ่น
|